สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กรมการแพทย์ แนะวิธีการแก้ปัญหาเมื่อเด็กมีพฤติกรรมพูดคำหยาบซึ่งส่งผลเสียต่อบุคลิกและภาพลักษณ์ของเด็กในอนาคต
นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า พฤติกรรมการพูดคำหยาบในวัยเด็กส่วนใหญ่มาจากคนใกล้ตัว หรือคนในครอบครัว การแก้ปัญหาที่ดีที่สุดควรเริ่มแก้ไขจากพ่อแม่ หรือคนในครอบครัวก่อน เพราะเด็กเป็นวัยที่จดจำและเลียนแบบจากบุคคลใกล้ตัว การสื่อสารด้วยคำพูดคุยกันทุกวันที่มองว่าเป็นเรื่องปกติ อาจเป็นสาเหตุทำให้เด็กพูดจาหยาบคาย นอกจากนี้พฤติกรรมเลียนแบบจากสื่อต่างๆเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เด็กๆพูดจาหยาบคายได้ พ่อแม่ควรบอกกล่าวตักเตือนถึงคำพูดและตั้งกฎกติกาขึ้นมา เพื่ออธิบายเด็กเข้าใจถึงความหมายและไม่ควรพูดจาแบบนี้อีก
นายแพทย์สมเกียรติ ลลิตวงศา ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กรมการแพทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ช่วงวัยอนุบาลและวัยประถมเป็นวัยที่แก้ปัญหาการพูดคำหยาบได้ง่ายที่สุด โดยเริ่มจากการพูดคุยกันในครอบครัวควรพูดด้วยคำสุภาพต่อหน้าและลับหลังเด็กอย่าลืมลงท้ายประโยคด้วยคำว่า ครับ/ค่ะทุกครั้ง เด็กจะมองดูเป็นตัวอย่างและประพฤติปฏิบัติตามสิ่งที่เด็กได้เห็นจากพฤติกรรมคนใกล้ตัว แต่ถ้าเด็กมีพฤติกรรมการพูดคำหยาบมาจากเพื่อนๆ ที่โรงเรียนหรือสื่อต่างๆ ควรอธิบายให้เด็กเข้าใจว่าทำไมไม่ควรพูดคำหยาบ และข้อเสียของการพูดไม่สุภาพ ควรมีการตั้งกฎถ้าทำผิดกฎโดยลงโทษที่ยุติธรรมและเหมาะสมกับความผิด การลงโทษควรให้เด็กเข้าใจว่า ถูกลงโทษมิใช่เพราะว่าพ่อแม่ไม่รักลูก แต่อยากให้เป็นคนดี เมื่อได้รับโทษต้องอธิบายเหตุผลเสมอ ส่วนวิธีการลงโทษมีหลากหลายวิธี เช่น งดขนม งดการดูทีวี การให้ทำงานบ้านชดเชยความผิด แต่ไม่ควรลงโทษทางกายที่รุนแรงเพราะจะทำให้เด็กเป็นเด็กขี้ขลาดและกลายเป็นเด็กก้าวร้าวในที่สุด