หมอเด็กห่วงใย..ผู้ป่วยเด็กโรคหัวใจควรให้ความสำคัญต่อการดูแลสุขภาพช่องปาก
กรมการแพทย์ โดยสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี แนะผู้ปกครองหมั่นดูแลสุขภาพช่องปากของเด็กอยู่สม่ำเสมอ และควรมาพบทันตแพทย์ตั้งแต่ฟันน้ำนมซี่แรกขึ้น หรือภายใน 1 ขวบ และนัดตรวจฟันเป็นระยะทุก 3-6 เดือน เพื่อรับคำแนะนำในการดูแลสุขภาพช่องปาก ประเมินความเสี่ยงในการเกิดฟันผุ และเคลือบฟลูออไรด์
แพทย์หญิงอัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า เด็กโรคหัวใจมีความเสี่ยงต่อการเกิดฟันผุสูงกว่าเด็กทั่วไป เนื่องจากในเด็กโรคหัวใจเนื้อฟันจะไม่แข็งแรง ผุกร่อนง่าย ยารักษาโรคหัวใจบางชนิดมีรสหวาน หรือทำให้ปากแห้ง เสี่ยงต่อการเกิดฟันผุได้ง่าย เด็กโรคหัวใจมักมีน้ำหนักตัวน้อย ผู้ปกครองจึงอยากให้เด็กรับประทานอาหารได้มากขึ้น จึงให้เด็กรับประทานของหวาน หรือรับประทานจุบจิบ อีกทั้งผู้ปกครองไม่กล้าทำความสะอาดช่องปากให้เด็กเนื่องจากกลัวเด็กร้องไห้ แล้วเกิดภาวะขาดออกซิเจน ตัวเขียว บางรายผู้ปกครองกังวลกับสภาวะโรคหัวใจ จึงละเลยหรือขาดความเข้าใจในการดูแลสุขภาพช่องปาก ดังนั้นการให้ทันตสุขศึกษาแก่ผู้ปกครองเพื่อให้มีความรู้ ความเข้าใจ และนำไปปฏิบัติให้เด็กกลุ่มนี้ได้จึงเป็นเรื่องสำคัญ
นายแพทย์อัครฐาน จิตนุยานนท์ ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กรมการแพทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า การดูแลสุขภาพช่องปากในผู้ป่วยเด็กโรคหัวใจ สามารถทำได้ดังนี้ ผู้ปกครองควรทำความสะอาดช่องปากให้เด็กตั้งแต่ฟันยังไม่ขึ้น โดยใช้ผ้าอ้อม หรือผ้าก๊อซชุบน้ำต้มสุกสะอาดเช็ดสันเหงือก กระพุ้งแก้ม ลิ้นให้เด็ก เมื่อเด็กมีฟันขึ้นแล้ว ผู้ปกครองควรแปรงฟันให้เด็กในท่านอนตัก อย่างน้อยวันละ 2 ครั้งเช้าและก่อนนอน โดยใช้ยาสีฟันผสมฟลูออไรด์ที่มีความเข้มข้น 1,000-1,500 ppm ปริมาณยาสีฟันที่ใช้ แบ่งตามช่วงอายุได้ดังนี้ อายุ 0-3 ปี ใช้ปริมาณยาสีฟันเท่าเมล็ดข้าวสาร
อายุ 3 – 6 ปี ใช้ปริมาณยาสีฟันเท่ากับเม็ดถั่วลันเตาหรือบีบยาสีฟันตามความกว้างของแปรง อายุมากกว่า 6 ปี ใช้ปริมาณยาสีฟันเท่ากับความยาวของแปรงสีฟัน และควรใช้เวลาแปรงฟันนานอย่างน้อย 2 นาที จากนั้นไม่รับประทานอาหารและเครื่องดื่มหลังแปรงฟันครึ่งชั่วโมง เมื่อเด็กมีการพัฒนาของกล้ามเนื้อมัดเล็กได้ดีแล้วอายุประมาณ 8 ปี สามารถให้เด็กแปรงฟันเอง โดยผู้ปกครองช่วยดูแลอีกครั้งหลังทำความสะอาด สำหรับการเลือกอาหารว่างควรเลือกอาหารที่มีพลังงาน ไขมัน น้ำตาลต่ำ หรือไม่ใส่น้ำตาล หลีกเลี่ยงอาหารที่มีพลังงาน ไขมัน น้ำตาลสูง และหวานเหนียวติดฟัน ควรรับประทานอาหารระหว่างมื้อไม่เกินวันละ 2 ครั้ง การเตรียมตัวเด็กโรคหัวใจก่อนมาพบทันตแพทย์ ผู้ปกครองอาจเล่านิทานเกี่ยวกับการไปหาหมอฟันให้เด็กฟังเพื่อสร้างความคุ้นเคย ไม่ปลูกฝังความกลัวเกี่ยวกับหมอฟัน เช่น การขู่ ถ้าดื้อหมอจะจับถอนฟัน เป็นต้นผู้ปกครองควรมาพบทันตแพทย์กับเด็กด้วยเสมอเพื่อเรียนรู้เกี่ยวกับวิธีการดูแลสุขภาพช่องปากของลูกอย่างถูกวิธีและนำไปปฏิบัติอย่างถูกต้อง
**************************************
#กรมการแพทย์ #สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี #ความสำคัญและการดูแลสุขภาพช่องปากในผู้ป่วยเด็กโรคหัวใจ
– ขอขอบคุณ –
7 มีนาคม 2567